นอนวันละกี่ชั่วโมงถึงจะเพียงพอ

การนอนหลับ (ย้ำว่านอนหลับสนิท) คือ การพักผ่อนที่ดีที่สุดเพื่อให้ร่างกายได้ทำหน้าที่สร้างเสริมความเจริญเติบโตและฟื้นฟูสภาพจากความเสื่อมถอย มูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา (จริงจังมาก) ได้ระบุจำนวนชั่วโมงการนอนที่เหมาะสมสำหรับคนแต่ละช่วงอายุเอาไว้เบื้องต้น ดังนี้


นอนวันละกี่ชั่วโมงถึงจะเพียงพอ

ช่วงอายุและจำนวนชั่วโมงการนอน
• อายุ 0-3 เดือน ควรนอน 14-17 ชั่วโมง/วัน
• อายุ 4-11 เดือน ควรนอน 12-15 ชั่วโมง/วัน
• อายุ 1-2 ปี ควรนอน 11-14 ชั่วโมง/วัน
• อายุ 3-5 ปี ควรนอน 10-13 ชั่วโมง/วัน
• อายุ 6-13 ปี ควรนอน 9-11 ชั่วโมง/วัน
• อายุ 14-17 ปี ควรนอน 8-10 ชั่วโมง/วัน
• อายุ 18-64 ปี ควรนอน 7-9 ชั่วโมง/วัน
• อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรนอน 7-8 ชั่วโมง/วัน

ทั้งนี้การนอนให้ครบจำนวนชั่วโมงตามข้อมูลเบื้องต้นเพียงอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่การนอนที่ถูกต้องจะต้องนอนให้ถูกช่วงเวลาด้วย นอนในช่วงเวลากลางคืนเพียง 4-6 ชั่วโมง มีค่ามากกว่าการนอนกลางวัน 8-10 ชั่วโมง เพราะธรรมชาติสร้างให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่หากินในเวลากลางวันและพักผ่อนในเวลากลางคืน

การนอนกลางวันอาจจะช่วยให้ร่างกายได้พักทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้า แต่สิ่งที่ร่างกายจะไม่ได้รับจากการนอนกลางวันคือ "การฟื้นฟู" เนื่องจากเซลล์ในร่างกายมีการเสื่อมสภาพและสร้างใหม่ขึ้นมาทดแทนทุกวัน โดยกระบวนการฟื้นฟูดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนอนหลับในช่วงเวลากลางคืน

สำหรับช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการนอนหลับ คือ "สี่ทุ่มถึงตีสอง" นับเป็นช่วงเวลาทองที่ต่อมใต้สมองจะหลั่งสารที่ชื่อว่า "โกรทฮอร์โมน" (Growth Hormone) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพ การอดนอนในช่วงเวลานี้ร่างกายจึงไม่สามารถสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาฟื้นฟูได้ ผลที่ตามมาคือ ความเสื่อมถอยก่อนวัยอันควร

สังเกตง่ายๆว่าคนที่ทำงานกลางคืนจะมีสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยเร็วมาก แม้จะมีเวลานอนกลางวันมากเป็นสิบชั่วโมง ต่างกับคนที่ทำงานกลางวันแต่ได้นอนหลับในช่วงเวลาที่ดีที่สุดเพียง 4-6 ชั่วโมง ดังนั้นจำนวนชั่วโมงการนอนที่มากจึงไม่ใช่สิ่งที่บ่งชี้ว่าเพียงพอ แต่การนอนที่เพียงพอคือการนอนในช่วงเวลาที่เหมาะสม